15 พฤษภาคม 2553

เรื่องเล่าจากตุ่ม..มรดกวัฒนธรรมบ้านหัวบึง

“ทุกวันนี้ ไม่มีแล้วตุ่มน้ำ เพราะเวลาเอาไปขาย เขาไม่ซื้อ เขาบอกว่าเชย ส่วนใหญ่เขาใช้ตู้เย็น และใช้กระติกน้ำแข็งแทน เวลาไปขายคนซื้อพูดอย่างนี้ เราก็รู้สึกอาย ”

นางกุล กุมพล ชาวบ้านหัวบึง จังหวัดขอนแก่น ยึดอาชีพปั้นหม้อดินและตุ่ม มาตลอดทั้งชีวิต ตัดพ้อถึงอาชีพช่างปั้นหม้อ ซึ่งนับวันกำลังจะถูกลืมเลือน เนื่องจากกระแสการบริโภคนิยมของคนสมัยใหม่ที่นิยมสินค้าสำเร็จรูป ทำให้หม้อดิน-โอ่งดิน เสื่อมความนิยมลงไปทุกวัน

ย้อนไปเมื่อสมัยก่อนประวัติศาสตร์ 5,000 ปี ในยุคบ้านเชียง ผู้คนในสมัยนั้นมีวัฒนธรรมในการทำเครื่องปั้นดินเผา ประกอบพิธีต่างๆ และจากร่องรอยอารยธรรมในอดีตนั้นกลับเป็นมรดกตกทอดที่ทำให้ชาวบ้านแถบอีสานมีอาชีพทำมาหากิน นั่นคือ การปั้นตุ่มขาย

เช่นเดียวกับชาวบ้านหัวบึง จังหวัดขอนแก่น ที่ยึดอาชีพปั้นหม้อดินมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษและได้รับนิยมมาก จนกระทั่งเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ความนิยมก็เริ่มลดลง

ความหวังในการสืบทอดอาชีพของบรรพบุรุษที่กำลังจะหมดลง เริ่มมีแสงสว่างขึ้นมาอีกครั้ง ภายหลังทีมนักวิจัยจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงพื้นที่ให้ความรู้กับชาวบ้าน ฟื้นฟูการปั้นตุ่ม โดยพัฒนากระบวนการผลิตเครื่องปั้นดินเผา ไฟต่ำอีสาน ทั้งในเรื่องของการขึ้นรูปด้วยการตี การตกแต่งชิ้นงานด้วยการกดประทับให้เกิดลวดลาย

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาไฟต่ำอีสานของชาวบ้านหัวบึง มีราคาสูงขึ้น เนื่องจากการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีรูปแบบและลวดลายที่สวยงาม อีกทั้งมีการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ ทำให้วันนี้เครื่องปั้นดินเผา ไฟต่ำอีสาน กลับมาเป็นที่นิยมของผู้ซื้ออีกครั้ง

วัฒนธรรมการปั้นตุ่มจากเดิม ขยายเป็นเครื่องใช้ของใช้ต่างๆมากมาย ทำให้เกิดการขยายรายได้ของชุมชน และเป็นการประยุกต์วัฒนธรรมเดิมให้มีคุณค่า และคงอยู่ตลอดไป

สิกิตตรี เกิดมงคล , ธงไชย มนตรี ข่าวโฮมทีวี รายงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น