25 ตุลาคม 2553

พิธีกวนข้าวทิพย์

ประชาชนชาวขอนแก่น  พร้อมใจกันสวมชุดขาว  เข้าร่วมพิธีกวนข้าวทิพย์  หรือ  ข้าวทิพย์มธุปายาส   ซึ่งเป็นประเพณีที่ทำในช่วงออกพรรษา  สืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน    เพื่อระลึกถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหตุการณ์ ที่นางสุชาดาได้กวนข้าวทิพย์ในวันขึ้น 14 ค่ำ แล้วนำไปถวายพระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้ 1 วัน  ด้วยเหตุนี้ชาวพุทธจึงพร้อมใจกันกวนข้าวทิพย์เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เทิดทูนพระเกียรติคุณด้วยความกตัญญูกตเวทิตาธรรม     ซึ่งต้องใช้ความร่วมมือร่วมใจของประชาชนจำนวนมาก   ในการเตรียมการ การจัดหาอุปกรณ์ในการกวน    แรงงานในการกวน    และการเตรียมการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินที่ใช้ในการจัดซื้อจัดหาสิ่งของต่างๆ เป็นจำนวนมาก

 

นายเรือง  สุระพราหณ์    พ่อพราหมณ์ในการประกอบพิธีกรรม    เป็นผู้พาทีมข่าวโฮมทีวี    มาทำความรู้จักกับพิธีกวนข้าวทิพย์    ซี่งวัตถุที่นำมากวน ได้แก่ น้ำนมโคสด แต่ปัจุจบันใช้นมข้นหวานแทน   น้ำผึ้ง   น้ำอ้อย   น้ำตาลกรวด น้ำตาลหม้อ ข้าวตอก ข้าวเม่า    ธัญพืชต่างๆ ที่คั่วสุก   ถั่ว   งา   ลูกเดือย เมล็ดแตง   เผือก มัน เมล็ดบัว มะพร้าวแก่    มะพร้าวอ่อน    รวมทั้งผลไม้สด   ผลไม้แห้ง เช่น มะม่วง กล้วย ทุเรียน ละมุด   ลำไย   ส้ม    ขนุน เป็นต้น ทั้งนี้แล้วแต่ความเหมาะสมเท่าที่จะหาได้หรือปรับปรุงให้มีรสชาติ หอมหวาน อร่อย ตามความต้องการของผู้กวนในแต่ละท้องถิ่น


เมื่อเตรียมส่วนผสมทุกอย่างพร้อมแล้ว   สาวพรหมจารี   ซึ่งเป็นเด็กที่ยังไม่มีประจำเดือน หรือสตรีที่ยังไม่เคยต้องประเวณี   และต้องกราบพระเป็นและรับศีลได้  เป็นผู้เริ่มพิธี   โดยจะกวนเวียนขวาไปเรื่อยๆ  จนควบทุกกระทะ  และส่วนผสมทั้ง 38 ชนิด  รวมเป็นเนื้อเดียวกัน   ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง    ซึ่งเชื่อกันว่า   เมื่อทำครบถ้วนตามพิธีแล้ว   จะเป็นสิริมงคลแด่ผู้ทำและผู้บริโภค      


จะเห็นได้ว่า  กว่าจะได้ข้าวทิพย์  หรือ ข้าวทิพย์มธุปายาส   ที่เสร็จสมบูรณ์พร้อมรับประทาน   ต้องอาศัยความศรัทธาและความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนจำนวนมาก   ที่จะอนุรักษ์และสืบทอดประเพณี   พิธีกวนข้าวทิพย์  ให้คงอยู่ถึงรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น