03 กุมภาพันธ์ 2555

ก.ส.สนับสนุนสินเชื่อ 1,000 ล้าน ให้โรงงานแปรรูป พยุงราคาสับปะรด


ก.ส.สนับสนุนสินเชื่อ 1,000 ล้าน ให้โรงงานแปรรูป พยุงราคาสับปะรด

  ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อวงเงิน 1,000 ล้านบาท  เสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปเพื่อแก้ปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำ โดยตั้งเป้ารับซื้อไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 4 บาท

             นายลักษณ์  วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร(คชก.) ได้มีมติให้ ธ.ก.ส. เข้าร่วมโครงการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาสับปะรด ซึ่ง ธ.ก.ส. พร้อมให้การสนับสนุนสินเชื่อ Packing Credit ในวงเงิน 1,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี ระยะเวลา 3 เดือน ให้กับผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนวียนของกิจการและเสริมสภาพคล่องในการรับซื้อสับปะรดส่วนเกินจากเกษตรกร ในการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์น้ำสับปะรดเข้มข้นไว้รอการจำหน่าย

               สำหรับเงื่อนไขผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปสับปะรดที่เข้าร่วมโครงการต้องจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) ในเรื่องการกำหนดราคารับซื้อสับปะรดขั้นต่ำ ณ หน้าโรงงานในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 4 บาท กับเกษตรกร สถาบันและภาคราชการ ในช่วงระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2554 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555        โดยผู้ประกอบการจะได้รับชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี จาก คชก.เป็นระยะเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ได้รับสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. และสิ้นสุดโครงการในวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 ทั้งนี้การดำเนินโครงการดังกล่าวจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 7.725 ล้านบาท  แบ่งเป็นเงินชดเชยดอกเบี้ย Packing Credit ระยะเวลา 3 เดือน วงเงิน 7.5 ล้านบาท         ค่าบริหารจัดการโครงการของกรมส่งเสริมการเกษตร วงเงิน 0.225 ล้านบาท

นายลักษณ์ กล่าวอีกว่า ในปี 2554 มีผลผลิตสับปะรดออกสู่ตลาดประมาณ 2.59 ล้านตัน เทียบจากปีที่ผ่านมา    มีเพียง 1.47 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.47 ทั้งนี้เพราะช่วงที่ผ่านมาเกษตรกรขายสับปะรดได้ในราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 6-7 บาท ทำให้มีการขยายพื้นที่การเพาะปลูก ประกอบกับสภาพอากาศเอื้ออำนวย ส่งผลให้ผลผลิตในภาพรวมเพิ่มขึ้น เช่น ในช่วงเดือนพฤศจิกายน มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณวันละ 11,000-12,000 ตัน ขณะที่โรงงานแปรรูปมีกำลังการผลิตวันละ 10,000 ตัน ทำให้มีผลผลิตส่วนเกิน ประกอบกับผู้นำเข้าในตลาดต่างประเทศลดปริมาณการสั่งซื้อ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้โรงงานมีสต็อคสินค้ามาก ราคาซื้อขายสับปะรดจึงตกต่ำลงเหลือเพียงประมาณ 2-3 บาทต่อกิโลกรัม   การดำเนินโครงการดังกล่าว นอกจากเป็นการเข้าไปแก้ไขปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำแล้ว ยังเป็นการรักษาเสถียรภาพราคาส่งออกผลิตภัณฑ์สับปะรด และเพิ่มอำนาจต่อรองของอุตสาหกรรมสับปะรดไทยในตลาดต่างประเทศด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น