03 กุมภาพันธ์ 2555

ธ.ก.ส.เตรียมรับจำนำมันสำปะหลัง 10 ล้านตัน


ธ.ก.ส.เตรียมรับจำนำมันสำปะหลัง 10 ล้านตัน
พร้อมปล่อยกู้รวบรวมและพยุงราคายางพาราวงเงิน 15,000 ล้านบาท

                        ธ.ก.ส. เดินเครื่องรับจำนำมันสำปะหลัง เริ่ม ก.พ. พ.ค. 55 ตั้งเป้า 10 ล้านตัน จำกัดปริมาณไม่เกิน 250 ตันต่อราย พร้อมเตรียมปล่อยสินเชื่อเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางพาราวงเงิน 15,000 ล้านบาท 

                นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. พร้อมดำเนินโครงการรับจำนำมันสำปะหลังปี 2554/2555 ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ พฤษภาคม 2555 เพื่อยกระดับราคามันสำปะหลัง โดยรับจำนำหัวมันสดตามเปอร์เซ็นต์เชื้อแป้งที่ 25 เปอร์เซ็นต์ ในราคากิโลกรัมละ 2.75 บาท และปรับเพิ่มขึ้นเดือนละ 0.05 บาท จนถึงเดือนพฤษภาคม 2555 ราคาจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 2.90 บาท เป้าหมายการรับจำนำ 10 ล้านตัน  

          วิธีดำเนินการจะรับจำนำใบประทวน โดยให้ อคศ. รับสมัครลานมันและโรงแป้งเข้าร่วมโครงการเพื่อใช้เป็นจุดรับฝากหัวมันสดและจ่ายใบประทวนให้เกษตรกร โดยเกษตรกรจะนำใบประทวนดังกล่าวมาจำนำกับ ธ.ก.ส. และ ธ.ก.ส. 
จะจ่ายเงินให้เกษตรกรภายใน 3 วันทำการ  ส่วนลานมันและโรงแป้งที่รับฝากหัวมันสดจะต้องแปรสภาพหัวมันสดเป็น มันเส้นและแป้งมันส่งมอบเข้าคลังกลางตามหลักเกณฑ์และมติของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลังปี 2554/55 

                ในส่วนของเกณฑ์การรับจำนำ เกษตรกรจะต้องมีหนังสือรับรองเกษตรกรจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
มีผลผลิตมันสำปะหลังเป็นของตนเอง เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. โดยสามารถจำนำผลผลิตในพื้นที่จังหวัดของตนเท่านั้น ยกเว้นกรณีที่บางจังหวัดมีลานมันหรือโรงแป้งเข้าร่วมโครงการน้อย ไม่เพียงพอต่อการให้บริการให้คณะอนุกรรมการกำกับดูแลระดับจังหวัดเป็นผู้พิจารณากำหนดจุดรับจำนำนอกพื้นที่ 

                ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถไถ่ถอนผลผลิตได้ภายใน 3 เดือน นับถัดจากเดือนที่รับจำนำ โดยไถ่ถอนเป็นมันเส้นและแป้งมันสำปะหลังตามปริมาณซึ่งได้แปรสภาพหัวมันสำปะหลังในอัตราที่กำหนด ซึ่งถ้าราคาตลาด ณ วันที่ไถ่ถอนเท่ากับหรือต่ำกว่าราคาที่จำหน่ายไปแล้ว เกษตรกรไม่ต้องรับผิดชอบ แต่ถ้าราคาตลาดสูงกว่าราคาที่จำหน่ายไปแล้ว เกษตรกรจะได้รับคืนเงินส่วนเกินหลังจากหักดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ของยอดวงเงินที่จำนำ รวมค่าใช้จ่ายในการแปรสภาพ ค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาและค่าใช้จ่ายอื่นๆ นับตั้งแต่วันรับฝากจนถึงวันที่ไถ่ถอน โดยให้ไถ่ถอนทั้งจำนวนตามที่ระบุไว้ในใบประทวน

                ส่วนโครงการพัฒนาสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 15,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยจัดสรรให้สถาบันเกษตรกรจำนวน 5,000 ล้านบาท และให้องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) จำนวน 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี เพื่อใช้ในการรับซื้อยางนำไปแปรรูป และรอขายในราคาที่เหมาะสม  ทั้งนี้  เป้าหมายการดำเนินงานโครงการดังกล่าว นอกจากจะเป็นการรักษาเสถียรภาพราคายางโดยดำเนินการชะลอการจำหน่ายยางออกสู่ตลาดในช่วงที่ราคายางผันผวนแล้ว ยังเป็นการรักษาระดับราคารับซื้อที่เหมาะสมคือที่ระดับราคา 120 บาท ต่อกิโลกรัมอีกด้วย โดยโครงการดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม 2555 – มีนาคม 2556      

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น