19 พฤศจิกายน 2553

ขนมโบราณ น้ำตาลปั้น


ขนมหวานรูปร่างแปลกตาที่มีพ่อค้านำมาจำหน่ายข้างเวทีงิ้วในงานสมโภชศาลเจ้าปึงเฒ่ากงม่า ที่บึงแก่นนครที่เพิ่งจะผ่านไป  เรียกความสนใจจากลูกค้าทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ที่ต่างมุงดูวิธีการปั้นน้ำตาลให้เป็นขนมสีสันสวยงาม ก่อนนำมาอวดสายตาลูกค้าและผู้ที่มาชมงาน

 

ขนมหวานชนิดนี้ มีชื่อเรียกทางการว่า "น้ำตาลปั้น" ถือเป็นสีสันของงานมหรสพมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่คุณย่า ด้วยเสนห์ของการออกแบบให้มีรูปร่างและสีสันที่สวยงาม  ทำกันสดสดต่อหน้าลูกค้า  ใครชอบขนมเป็นรูปอะไรก็สั่งได้เลยเดี๋ยวนั้น 

 

บุญมี  สำลีอ่อน หรือเจี๊ยบ วัย 32 ปี  ยึดอาชีพขายขนมน้ำตาลปั้นมากว่า 12 ปี  เขาบอกว่า สิ่งที่ทำให้หลงไหลในขนมชนิดนี้ถึงขนาดยืดเป็นอาชีพ  คือ  ศิลปะในการปั้นที่ต้องใช้ความประณีตเป็นอย่างมาก  

 

กรรมวิธีในการทำขนมน้ำตาลปั้น    เริ่มจากนำน้ำตาลทราย ครึ่งกิโลกรัมแบะแซ 3 กิโลกรัม   น้ำ 1 แก้ว   ใส่หม้อหรือกระทะเคี่ยวด้วยไฟแรงพอเดือด  จากนั้นตั้งไฟไว้ให้เดือดจนข้นอีกครึ่ง ชั่วโมง  แล้วเทออกใส่ภาชนะที่ถูกแบ่งเป็นช่องๆ  ใส่สีผสมอาหารลงไปช่องละสีคลุกเคล้าให้สีเข้ากัน  เพียงเท่านี้ก็จะได้น้ำตาลปั้นสีต่างๆ  ตามที่ต้องการ

 

เมื่อน้ำตาลปั้นมีอุณหภูมิเย็นลงก็จะแข็งตัวไม่สามารถนำมาปั้นอะไรได้     เวลาจะใช้งานจึงต้องนำมาอังไฟให้อุ่น  น้ำตาลปั้นก็จะนิ่มอ่อนตัวสามารถปั้นขึ้นรูปเป็นตัวอะไรก็ได้ และต้องใช้เตาถ่านเท่านั้น เพื่อให้ได้กลิ่นหอม   นอกจากนี้ ยัง ที่สมัยก่อนจะทำจากดินเผา  แต่เมื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่เริ่มเข้ามา  น้ำตาลปั้นก็ถูกพัฒนาให้ทันสมัยตามไปด้วย  เช่น รูปแบบของแม่พิมพ์ในการทำขนมน้ำตาลปั้น  ที่มีเพิ่มขึ้นพร้อมกับรูปแบบที่เข้ายุคเข้าสมัย  ไม่ว่าจะเป็นรูปอุตตร้าแมน  โดเรมอน คิตตี้    กบเคโระ  หรือแม้กระทั่งโทรศัพท์ แบล๊คเบอร์รี่  ที่ใครๆ ก็ติดแชทกันทั่วบ้านทั่วเมือง   อย่างเด็กๆ ทั้ง 3 คนนี้ที่สั่งรูปโทรศัพท์ แบล๊คเบอร์รี่  เช่นกัน

ขนมน้ำตาลปั้นกับงานงิ้วถือเป็นของคู่กัน  ที่ใดมีงานงิ้ว ที่นั่นก็จะมีขนมน้ำตาลปั้นขายอยู่หน้าโรงงิ้ว   ส่วนอุปกรณ์คู่ชีพที่ต้องนำติดตัวไปด้วยทุกครั้งเวลาเร่ขายน้ำตาลปั้น ได้แก่  เก้าอี้นั่ง เตาทองเหลือง 4  ช่องเอาไว้ใส่น้ำตาลเคี่ยว 3 สี คือ ขาว หรือน้ำตาล แดง และเขียว ที่สูบลม และแม่พิมพ์แบบต่างๆ



 




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น