11 พฤศจิกายน 2553

รัฐเยียวยาผู้เสียหายภัยน้ำท่วม


ทายาทผู้เสียชีวิตจากภัยน้ำท่วมในจังหวัดขอนแก่น จำนวน 5 ราย รับมอบเงินช่วยเหลือจากกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี  รายละ 50,000 บาท

จากนายบุรินทร์ รุ่งมณี ผู้ตรวจสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนนายองอาจ คล้ามไพบูลย์  รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี   

 

ผู้ตรวจสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการดำเนินงานของรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจากภัยน้ำท่วมว่า นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้สั่งการให้ส่วนราชการทุกจังหวัด เร่งช่วยเหลือประชาชน ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมให้เร็วที่สุด ทั้งบ้านเรือน และการดำเนินชีวิต  โดยรัฐบาลมี 3 ขั้นตอนในการเข้าช่วยเหลือประชาชน  ที่ได้รับความเสียหายจากภัยน้ำท่วม คือ

1.             การช่วยเหลือเฉพาะหน้า มอบถุงยังชีพ เรือ แก่ประชาชนที่กำลังประสบภัยน้ำท่วม

2.             การช่วยเหลือหลังน้ำลด รัฐบาลจะมอบเงินเยียวยาค่าชดเชยแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากภัยน้ำท่วม ทั้งบ้านเรือนที่ชำรุดและไร่นาที่เสียหาย

3.             การมอบเงินให้ส่วนราชการทุกจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม 100-200 ล้านบาท เพื่อพัฒนาจังหวัดให้กลับสู่สภาพเดิม

 

นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงการดำเนินงานของรัฐบาลในอนาคตที่จะขอความร่วมมือกับสื่อมวลชนโทรทัศน์และวิทยุ ในการถ่ายทอดสัญญาณข่าวด่วนหรือรายงานข่าวของกรมอุตุนิยมวิทยา  ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน


สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ เกิดความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง พื้นที่ประสบภัย 21 อำเภอจาก 26 อำเภอของจังหวัด มีผู้ได้รับความเดือดร้อน  92,472 ครัวเรือน  พื้นที่การเกษตรเสียหาย 307,300 ไร่  ถนนชำรุด 387 สาย ราษฎรถูกน้ำท่วมขังบ้านเรือน 16,631 ครอบครัว มีผู้เสียชีวิต 5 ราย

 

ชาวบ้านหนองบัวดีหมี ตำบลท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น รับมอบถุงยังชีพช่วยถัยน้ำท่วมจากนายพงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิชกพงษ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ในโอกาสที่ได้เดินทางไปมอบถุงยังชีพ 300 ชุด และให้กำลังใจชาวบ้าน ที่บ้านหนองบัวดีหมี

 

ซึ่งสถานการณ์อุทกภัยที่บ้านหนองบัวดีหมีขณะนี้ น้ำท่วมขังไร่นาของชาวบ้านมานานกว่า 2 สัปดาห์แล้ว ผลผลิตทางการเกษตรเสียหายทั้งหมด ชาวบ้านไม่มีข้าวสารเก็บตุนไว้เหมือนกับทุกปี และยังคงต้องใช้เรือเดินทางไปดูสภาพความเสียหายที่ไร่นา

 

ชาวบ้านได้บอกกับทีมข่าวว่า ปีนี้เป็นปีวิกฤติมาก ช่วงหน้าแล้ง บริเวณลำน้ำชีแห้งขอด ไม่มีน้ำมาใช้การเกษตร ทำให้ชาวบ้านต้องซื้อเครื่องสูบน้ำ สูบน้ำจากลำน้ำชีมาใช้ในการเกษตร พอถึงฤดูฝนฝนตกหนักเข้าท่วมไร่นาเสียหายหมด แม้จะเคยท่วมแบบนี้มาหลายปี แต่ปีนี้หนักที่สุด

 

โดยในวันที่น้ำชีเอ่อล้นเริ่มเข้าท่วมไร่นา เทศบาลตำบลท่าพระและชาวบ้าน ต่างช่วยกันทำพนังกั้นน้ำ และขนกระสอบทรายทั้งคืน แต่สุดท้ายน้ำก็เข้าท่วมพังหมด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น