การผูกแขนให้คู่เสี่ยวเอก 9 คู่ และคู่เสี่ยวเกียรติยศ 7 คู่ ในพิธีกรรมที่เรียกว่า พิธีผูกเสี่ยว ซึ่งจัดขึ้นที่ศาลาผูกเสี่ยว ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ในงานเทศกาลไหมประเพณีผูกเสี่ยวและงานกาชาดจังหวัดขอนแก่น ประจำปี 2553
ประเพณีการผูกเสี่ยวเป็นขนบธรรมเนียมดั้งเดิมของภาคอีสาน ที่ให้คนรุ่นเดียวกันรักใคร่เป็นพี่เป็นน้องช่วยเหลือกัน เรียกว่า คู่เสี่ยว เพื่อให้คนในท้องถิ่นและคนในชาติมีความรักใคร่กลมเกลียว สมัครสมานสามัคคีและช่วยเหลือเกื้อกูลกันคำว่าเสี่ยว เป็นภาษาถิ่นอีสาน แปลว่า มิตรแท้ เพื่อนแท้ เพื่อนตาย มีความผูกพัน ซื่อสัตย์ และจริงใจต่อกัน โดยคุณสมบัติของบุคคลที่จะเป็นคู่เสี่ยว จะต้องอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน มีรูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงกัน มีนิสัยใจคอคล้ายหรือใกล้เคียงกัน หรือมีเพศเดียวกันหรือต่างเพศก็ได้ อย่างนายสายัณห์ ผาน้อย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต1 และนายสาโรจน์ สุวัตถิกูล พาณิชย์จังหวัดขอนแก่น ที่เข้าร่วมพิธีผูกเสี่ยวในวันนี้
สำหรับพิธีกรรมของประเพณีผูกเสี่ยว หมอสูดขวัญจะเริ่มพิธีโดยให้คู่เสี่ยวจุดเทียนที่ปักไว้ยอดขันหมากเบ็ง แล้วหมอจะนำไหว้พระจบแล้วหมอสูดขวัญจะกล่าวเชิญเทวดา จากนั้นจึงสวดคำสู่ขวัญจนจบ แล้วหมอสูดขวัญจะนำเอาข้าวเหนียวใส่มือให้คู่เสี่ยวคนละหนึ่งปั้น พร้อมไข่ต้มคนละฟอง กล้วยน้ำว้าคนละใบ และผูกข้อมือให้แก่คู่เสี่ยวเป็นครั้งแรก โดยใช้เส้นด้ายหรือฝ้าย ที่วางอยู่ในขันหมากเบ็งมาผูก ซึ่งตอนนี้เรียกว่า การผูกเสี่ยว
ส่วนอุปกรณ์ที่สำคัญที่ใช้ในพิธีกรรม มีพานบายศรีอาจเป็นบายศรีและมีเครื่องประกอบอีกหลายอย่าง เช่น สุรา 1 ขวด ไข่ไก่ต้ม 1 ฟอง ข้าวต้มมัด 4 ห่อ กล้วยสุก 4 ผล ข้าวเหนียวนึ่ง 1 ปั้น ใบพืชที่เป็นมงคล เช่น ใบคูน ใบเงิน ใบทอง ใบยอ ดอกรัก และที่ขาดไม่ได้คือ ฝ้ายผูกแขน นับว่าประเพณีผูกเสี่ยวเป็นประเพณีสำคัญที่จัดขึ้นพร้อมกันกับงานเทศกาลไหม เป็นสัญลักษณ์คู่กับชาวขอนแก่นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น