โฮมทีวี-ขณะนี้ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคหืดกว่า 4 ล้านคนและมีผู้ป่วยเสียชีวิตประมาณพันกว่ารายต่อปี หรือเฉลี่ย 3 คนต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเสียชีวิตก่อนที่จะมาถึงโรงพยาบาล เพราะผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ก็ต่อเมื่อเกิดอาการขึ้นแล้ว ส่งผลให้พยาธิสภาพของปอดและหลอดลมเสียไป บางครั้งก็สายเกินกว่าที่จะกลับคืนสู่ภาวะปกติได้อย่างน่าเสียดาย
วิถีชีวิตประจำวันของคนเมืองที่เร่งรีบ การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ฝุ่นละออง ความสะอาดของที่อยู่อาศัยการให้ความ สำคัญในการดูแลรักษาสุขภาพที่น้อยลง ส่งผลให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ รวมทั้งทำให้มีอัตราเสี่ยงเป็นโรคหืดเพิ่มขึ้น
รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บอกขณะนี้ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคหืดประมาณ 300 ล้านคน และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีการพยากรณ์ว่าในอนาคต 10-20 ปีข้างหน้า หากไม่มีการดำเนินการจัดการโรคหืดอย่างเร่งด่วน ทั่วโลกจะมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยโรคหืดจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 20
วันหืดโลกปีนี้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กำหนดจัดงานวันหืดโลกขึ้น เพื่อ กระตุ้นเตือนให้บุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยตื่นตัวกับปัญหาโรคหืด พร้อมเผยแพร่ความรู้และการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องในการรักษา ส่งเสริม และประสานงานในการดูแลสุขภาพของประชาชนระหว่างภาครัฐและเอกชน
เป้าหมายของการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหืด คือ การที่ผู้ป่วยสามารถควบคุมโรคหืดได้อย่างสิ้นเชิง นั่นคือ ผู้ป่วยจะต้องไม่มีอาการหอบทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน ไม่มีอาการกำเริบของโรค ไม่ต้องใช้ยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์สั้น ไม่ต้องไปห้องฉุกเฉินเนื่องจากอาการหอบอีกต่อไป มีค่าสมรรถภาพปอดปรกติ และไม่มีผลข้างเคียงจากยารักษาโรคหืด ซึ่งทั้ง 7 ข้อนี้ จะทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตเหมือนคนปรกติทั่วไปที่ไม่ได้เป็นโรคหืด ลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตได้
ทีมข่าวโฮมทีวี รายงาน
Hotmail: อีเมลฟรีประสิทธิภาพสูงที่มีการรักษาความปลอดภัยโดย Microsoft รับทันที
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น