สปสช.ขอนแก่น ดัน รพ.ตำบล เปิดคลินิกหืดในกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นมหากาฬ กำกับดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ เผย หากมีการรักษาอย่างทันท่วงทีลดอัตราการเสียชีวิต ขณะที่จำนวนผู้ป่วยปีนี้มีแนวโน้มลดลงเพราะได้รับการรักษา และหากมีการดูแลที่ดีสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขเหมือนคนทั่วไป
วันนี้(24 ก.ค.)ที่โรงแรมขอนแก่นโฮเต็ล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาขาเขตพื้นที่ขอนแก่น หรือ สปสช. จัดอบรมเจ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในโครงการพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหืดในพื้นที่รับผิดชอบร้อยแก่มหากาฬ ประกอบไปด้วยจังหวัดร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่เข้ารับการอบรมกว่า 200 คน
นพ.ดุสิต ขำชัยภูมิ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่น เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคหอบหืดในปัจจุบันน่าเป็นห่วง เนื่องจากว่าสถานพยาบาลที่ให้บริการไม่เพียงพอ จึงทำให้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษา โรงพยาบาลที่ไกลจากภูมิลำเนา ทำให้ลำบากในการเดินทาง ทาง สปสช.เขต 7 ขอนแก่น จึงได้มีการผลักดันให้เกิดคลินิกโรคหอบหืดประจำตำบล ในเขตพื้นที่รับผิดชอบทั้ง 4 จังหวัด และจากที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ก็ถือว่าประสบผลสำเร็จ
"สปสช.ขอนแก่น ได้มีการดำเนินการเปิดคลินิกประจำตำบลในกลุ่มจังหวัดที่รับผิดชอบ ขณะนี้ก็มีการลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่เป็นโรคหืดอย่างรุนแรงลงได้ แต่ต่อไปจะมีการเปิดคลินิคโรคหืดประจำตำบลให้ครอบคลุมทุกพื้นที่โดยทาง สปสช.เขต 7 ขอนแก่น จะเป็นผู้สนับสนุน"นพ.ดุสิต กล่าวและว่า
หากผู้ป่วยมีการรักษาที่ทันท่วงทีและปฏิบัติตามแพทย์ที่คอยให้คำแนะนำ ผู้ป่วยจะสามารถดำรงชีวิตได้เหมือนกับคนปกติทั่วไป แต่ จะต้องมีการระมัดระวังในเรื่องของฝุ่น เพราะโรคดังกล่าวนอกจากเกิดจากกรรมพันธุ์แล้ว การอยู่ในที่อากาศไม่ถ่ายเท รวมถึงที่มีฝุ่น ก็อาจเป็นสาเหตก่อให้เกิดโรค
ด้าน รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ รองคณะบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยถึงตัวเลขผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากโรคหอบหืดในปี พ.ศ.2538 จำนวน 66,679 คน และเพิ่มเป็น 102,245 ในปี พ.ศ.2545 และมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหอบหืดในปี พ.ศ.2540 จำนวน 806 คน และในปี พ.ศ.2546 เพิ่มขึ้นเป็น 1,697 คน และคาดว่าจะมีผู้ป่วยที่มีอาการหอบหืดรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านคน
"จำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี และเป็นโรคเรื้อรังที่มีผลกระทบกับผู้ป่วยสูง ไม่สามารถทำกิจกรรมได้เช่นคนปกติ และทำให้ในแต่ละปีมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวเป็นจำนวนมาก"รศ.นพ.วัชรา กล่าวและเพิ่มเติมว่า
โรคหืดในประเทศไทยเพิ่งจะได้รับความสนใจจากแพทย์เมื่อไม่นานมานี้ เนื่องจากว่ามีผู้ป่วยโรคหืดที่มีอาการรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินหรือเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ
สำหรับผลการดำเนินการพบว่ามีโรงพยาบาล 98 แห่ง สามารถจัดตั้งคลินิกโรคหืดแบบง่ายได้ มีโรงพยาบาล 65 แห่งมีการลงข้อมูลในฐานข้อมูลและโรงพยาบาล 33 แห่ง มีการดำเนินการแต่ไม่ได้ลงในฐานข้อมูล และในปี พ.ศ.2551 มีผู้ป่วยที่ถูกขึ้นทะเบียนใน 4 จังหวัดร้อยแก่นมหากาฬ 4,815 คน และมีผู้ป่วยที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาล 25,567 ครั้ง///
///////////////////////////////
แบ่งปันรูปถ่ายกันอย่างง่ายดายด้วย Windows Live™ Photos ลากแล้วปล่อย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น