ธ.ก.ส. โชว์ผลงาน 3
ไตรมาสจ่ายสินเชื่อ
กระตุ้นเศรษฐกิจภาคชนบทเพิ่มกว่า 3.7 แสนล้านบาท
ธ.ก.ส. จ่ายสินเชื่อ 3 ไตรมาสแรกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคการเกษตร
ไปแล้วกว่า 3.7 แสนล้านบาท
ส่วนเงินฝากเพิ่มขึ้น 6.3 หมื่นล้าน ขณะที่ยอด NPL อยู่ที่ร้อยละ 8.78 เนื่องจากเกษตรกรประสบปัญหาอุทกภัย
แจงพร้อมเร่งดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ทั้งโครงการรับจำนำข้าวเปลือก
บัตรสินเชื่อเกษตรกร และพักชำระหนี้เกษตรกร
นายลักษณ์ วจนานวัช
ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)
เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. ในช่วง 9 เดือน หรือ ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 (1 เมษายน-31 ธันวาคม 2554) ว่า ได้จ่ายสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคชนบทไปแล้ว
379,781 ล้านบาท ทำให้มียอดสินเชื่อรวม
726,659 ล้านบาท ขยายตัวจากต้นปีบัญชี 149,068 ล้านบาท
หรือร้อยละ 25.81
สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 9.18
ทั้งนี้มาจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55
ทำให้สินเชื่อนโยบายรัฐขยายตัวจากต้นปี 66,740 ล้านบาท
ขณะเดียวกันสินเชื่อปกติของ ธ.ก.ส. เติบโตเพิ่มขึ้น 82,328 ล้านบาท
ด้านเงินฝากมียอดรวมจำนวน 789,696 ล้านบาท
เพิ่มขึ้นจากต้นปีบัญชีจำนวน 63,123 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.69 จากผลิตภัณฑ์เงินฝากโครงการต่าง ๆ
เช่น โครงการเงินฝากดอกเบี้ยทันใจ 10 โครงการเกษียณอายุ เงินฝากออมทรัพย์ทวีโชค ออมทรัพย์ทวีสิน เป็นต้น จะเห็นได้ว่าจากการที่
ธ.ก.ส.ขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.81
ซึ่งสูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของเงินฝากที่ร้อยละ 8.69
ส่งผลให้อัตราเงินให้สินเชื่อต่อเงิน
รับฝาก (L/D Ratio)
เพิ่มขึ้นจากต้นปีที่ร้อยละ 79.50 เป็นร้อยละ 92.02
และทำให้อัตราสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมลดลงจากต้นปีซึ่งอยู่ที่ร้อยละ
23.02 เป็นร้อยละ 11.30
สำหรับผลการดำเนินงาน ณ 31 ธันวาคม
2554 มีรายได้รวม 39,408 ล้านบาท
เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 6,259 ล้านบาท
โดยเป็นรายได้จากดอกเบี้ย 37,551 ล้านบาท
รายได้จากค่าธรรมเนียมและการบริการ 1,156 ล้านบาทและรายได้อื่น ๆ 701
ล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่ายมีจำนวน 34,460
ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 6,176 ล้านบาท
แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย 10,362 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายดำเนินงาน 13,173 ล้านบาท
หนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญ 10,925 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิรวม 4,949 ล้านบาท โดยมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPLs จำนวน 57,168 ล้านบาท
คิดเป็นอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมร้อยละ 8.78 เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาเกษตรกรประสบอุทกภัยในหลายพื้นที่ ทั้งนี้
จากผลการดำเนินงานดังกล่าวทำให้ ธ.ก.ส. มีสินทรัพย์รวมจำนวน 950,717 ล้านบาทเพิ่มจากต้นปีบัญชี 51,699 ล้านบาท หนี้สินรวม 867,778 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50,489
ล้านบาทและส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 82,939 ล้านบาท
สำหรับโครงการสำคัญตามนโยบายของรัฐบาล
ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ ประกอบด้วย โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรจำนวน 3,560,400 ราย และผ่านการทำประชาคมพร้อมออกหนังสือรับรองเกษตรกรแล้วจำนวน 3,422,549 ราย มีจำนวนโรงสีและตลาดกลางที่เปิดจุดรับจำนำ
จำนวน 845 แห่ง ซึ่ง ธ.ก.ส.
ได้ทำสัญญาและจ่ายเงินกู้แก่เกษตรกรไปแล้ว 897,709 ราย ปริมาณข้าวเปลือก 5.5 ล้านตัน
จำนวนเงิน 91,884 ล้านบาท ส่วนการสีแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสารส่งมอบคลังสินค้ากลาง
ดำเนินการไปแล้วจำนวน 2.03 ล้านตัน
ทั้งนี้เมื่อสิ้นสุดโครงการ ธ.ก.ส. คาดว่าจะรับจำนำข้าวได้จำนวน 8 ล้านตัน จากเป้าหมาย 25 ล้านตัน เป็นเงิน 130,436 ล้านบาท
ทั้งนี้เนื่องจากเกษตรกรประสบอุทกภัยผลผลิตได้รับความเสียหาย
ขณะที่ราคาข้าวเปลือกในตลาดอยู่ในเกณฑ์ดี
เกษตรกรจึงขายข้าวเปลือกให้กับพ่อค้าในท้องถิ่น
โครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร ธ.ก.ส.
ได้ว่าจ้างบริษัท วี สมาร์ท จำกัด เป็นผู้ดำเนินการติดตั้งระบบและจัดหาอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องให้แก่ร้านค้า
และสาขาทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายส่งมอบบัตรให้แก่เกษตรกร 2 ล้านใบ และร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 3,000
ร้านค้าภายในเดือนพฤษภาคม 2555
ทั้งนี้ได้ดำเนินการทดลองระบบดังกล่าวในพื้นที่นำร่อง 5จังหวัดไปแล้ว ได้แก่ เชียงใหม่ อุดรธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี
และสระบุรี มีจำนวนลูกค้าที่ทดลองใช้บัตร 5,339 ราย และได้ขึ้นทะเบียนร้านค้าทั่วประเทศไปแล้ว
1,930 ร้านค้า
โครงการพักชำระหนี้ลูกค้า
ธ.ก.ส. ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2557 รวม 3 ปี ขณะนี้มีลูกค้าผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการมายื่นแสดงความประสงค์จำนวน 368,765 ราย ต้นเงินเป็นหนี้จำนวน 45,887 ล้านบาท ทั้งนี้หลังจากทราบเงื่อนไข มีผู้ยื่นความประสงค์เข้าร่วมโครงการ 313,451
ราย จำนวนหนี้ 39,004 ล้านบาท
และไม่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ 55,314 ราย จำนวนหนี้ 6,883
ล้านบาท
โดยสาเหตุที่ไม่เข้าร่วมโครงการเพราะได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม
เป็นลูกค้าที่รอรับการช่วยเหลือจากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร(กฟก.)
และบางส่วนเป็นลูกหนี้ที่มีหนี้รวมทุกสถาบันการเงินเกิน 500,000 บาท